"สมุยอักษร" องค์กรรักษ์โลก
พวกเขาทำโรงพิมพ์อยู่บน “เกาะสมุย” เมื่อกระบวนการผลิตมีส่วนทิ้งของเสียและสร้างขยะให้กับโลก เลยต้องปรับองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“เราตระหนักดีว่า ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเราอยู่ในเมืองท่องเที่ยวอย่างเกาะสมุย และทำธุรกิจโรงพิมพ์ที่ผลิตขยะและของเสียสู่สิ่งแวดล้อมเยอะพอสมควร”
“อานนท์ วาทยานนท์” กรรมการผู้จัดการ โรงพิมพ์สมุยอักษร ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ครบวงจรบนเกาะสมุย ที่อยู่ในสนามมากว่า 2 ทศวรรษ (ก่อตั้งปี พ.ศ. 2534) บอกเล่าความตระหนักรู้ในการทำธุรกิจ ที่จะคิดแต่ผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ทว่าต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อลำคลองรอบเกาะสมุย เป็นเพียงลำน้ำสายสั้นๆ ทำให้หากมีใครเผลอทิ้งของเสียลงไป ของเสียเหล่านั้นก็จะไหลลงสู่ท้องทะเลทันควัน ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติงดงาม ที่เป็นจุดขายของเกาะสมุย สมุยอักษรในฐานะโรงพิมพ์ที่มีส่วนผลิตน้ำเสียอยู่พอสมควร จึงได้เริ่มปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขา โดยทำเรื่องระบบ “บำบัดน้ำเสีย” ซึ่งปัจจุบัน สามารถป้องกันน้ำเสียไม่ให้ลงไปในสิ่งแวดล้อมและไม่ปนเปื้อนได้แล้วเกือบ 100%
ขณะกากของเสียที่ได้จากการบำบัด ก็ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำพวกมันไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ซึ่งพบว่า สามารถใช้เป็นตัวดูดซับแก๊สชีวภาพในกระบวนการหมักแก๊สชีวภาพได้ดี จึงมีโอกาสต่อยอดไปทำประโยชน์ได้อีกมาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา
ในการประกาศตนเป็นองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ทำแค่ภายในองค์กร แต่พวกเขายังชักชวนชาวชุมชน มาร่วมทำโครงการดีๆ ร่วมกันด้วยกัน อาทิ กิจกรรมผลิต EM แจกจ่ายให้กับคนทั่วไป กิจกรรมปลูกผักสวนครัวลดค่าครองชีพ ทำปุ๋ยหมักใช้เอง ชักชวนผู้คนมาดูแลต้นไม้รอบรั้ววัด ตลอดจนพัฒนาชายหาด เพื่อคืนความใสสะอาดสู่เกาะสมุย เป็นต้น
หัวใจสำคัญของการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นหัวใจเดียวกันที่จะสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง นั่นคือ “การพัฒนาคน” ซึ่งผลที่ได้ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพสู่องค์กรเท่านั้น ทว่ายังร่วมแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมด้วย
“ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปัญหาสังคมของประเทศเราเกิดขึ้นเยอะมาก และส่วนใหญ่ก็มาจากคนทั้งนั้น เรามองว่า ถ้าคนของเรายังไม่มีคุณภาพ ก็ไม่สามารถไปผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าได้ จึงกลับมาทำเรื่องการพัฒนาคน” เขาบอก
ที่มาของพันธกิจร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมจากจุดเล็กๆ อย่างคนในองค์กร โดยสมุยอักษร มีพนักงานอยู่ประมาณ 70 คน เป้าหมายของพวกเขา คือต้องทำให้ทุกคนเป็นคนดี ห่างไกลจากอบายมุข และเหล่าปัญหาสังคม ไม่ว่าจะ ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ ปัญหาครอบครัว ตลอดจนเรื่องชู้สาว เหล่านี้เป็นต้น
เหตุผลที่ต้องเริ่มจาก “อบายมุข” เพราะเขาบอกว่า เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสังคม โดยเฉพาะการอยู่ในเมืองท่องเที่ยวอย่าง เกาะสมุย ที่ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า อบายมุขมีทุกรูปแบบ ตั้งแต่ การพนัน เหล้า บุหรี่ และยาเสพติด
“แทนที่พนักงานจะนำรายได้ที่เขาหาได้ ไปเลี้ยงดูครอบครัว ก็ต้องหมดไปกับเรื่องพวกนี้ สุดท้ายก็เกิดปัญหาครอบครัว และส่งผลกระทบมาถึงเรื่องการทำงานของเขาด้วย”
อานนท์บอกผลของอบายมุข ที่ไม่ได้เล่นงานเพียงครอบครัวของพนักงานเท่านั้น ทว่ายังส่งผลต่อการทำงานขององค์กรด้วย เมื่อเชื่อว่า ถ้าไม่สามารถพัฒนาคนให้ดีขึ้นได้ องค์กรก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ พวกเขาจึงหันมาจัดการกับปัญหาอบายมุขในองค์กร โดยเริ่มจาก บุหรี่ เหล้า และยาเสพติด
เขาบอกหนึ่งความภาคภูมิใจ เมื่อปัจจุบันสมุยอักษร ประกาศตัวเป็นองค์กรปลอดบุหรี่ได้ 100% แล้ว หลังจากออกมาตรการมากำกับดูแล และดึงดูดคนให้ทำดีด้วย “ผลตอบแทน”
“เราออกมาตรการว่า ใครเลิกบุหรี่ได้จะได้เงินตอบแทนที่ดี แต่ถ้าใครไม่ยอมเลิกก็จะได้น้อยกว่าคนอื่น สุดท้ายก็ให้เส้นตายไปเลยว่า ให้เวลา 2 ปี ถ้ายังเลิกไม่ได้ ก็ควรไปหาอาชีพอื่น”
บทลงโทษที่เฉียบขาด ท้าทายยุคแรงงานหายากเอามากๆ อานนท์บอกว่า แทบไม่ได้มองผลกระทบที่จะเกิดกับธุรกิจเลย มองแต่เพียงว่า ถ้าไม่มีทางแก้อื่น ธุรกิจก็ต้องกล้าชนบ้าง เพราะถ้าทำได้ องค์กรก็จะได้แรงงานที่ดีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ที่สำคัญยังจะเป็นตัวอย่างให้องค์กรอื่นกล้าลุกมาทำวิธีเดียวกัน เพื่อให้สังคมภาพรวมของเราดีขึ้นได้
“อาจเพราะผมเคยทำราชการมาก่อน เคยเป็นนักวิชาการเกษตรอยู่ 15 ปี ผมเลยมีความคิดในเชิงวิจัย คือผมอยากลอง อยากพิสูจน์ดูว่า กระบวนการแบบนี้จะทำได้จริงไหม โดยที่ผลกำไรในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่เป้าหมายหลักของผม” เขาบอกมุมมองที่ท้าทายการทำธุรกิจ
นอกจาก “สร้างคนดี” ให้เป็นพลังสำคัญขององค์กร อานนท์ยังยึดแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง “ความพอดี พอเพียง” มาใช้เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ
“ถ้าเรามองแต่กำไรสูงสุด เราก็จะพยายามรวบทุกอย่างมาเป็นของตัวเอง แต่ถ้าเรามองเรื่องสังคม เราก็คงไม่ต้องการที่จะเอาทุกอย่างมาเป็นของเราเองทั้งหมด แต่เลือกที่จะแชร์ออกไปให้สังคมด้วย ผมคงไม่รอว่าอีก 50 ปี รวยแล้วค่อยมาคิดทำเพื่อสังคม เพราะถึงตอนนั้นก็คงไม่ได้ทำ ฉะนั้นในระหว่างทางของการใช้ชีวิตและทำธุรกิจ ผมจะเลือกแชร์ออกไป จะมองเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมการทำธุรกิจ” เขาบอกวิธีคิด
อุดมการณ์ที่แน่ชัด และการลงมือปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ตลอดการดำเนินธุรกิจ ส่งให้ชื่อของ “สมุยอักษร” ธุรกิจเล็กๆ จากเมืองภูธร กลายเป็นองค์กรที่คว้ารางวัลระดับประเทศมาการันตีความสำเร็จมากมาย อาทิ รางวัลจรรยาบรรณดีเด่น จากหอการค้าไทย ประจำปี 2552 รางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น ด้านความโปร่งในและความซื่อสัตย์สุจริต ประจำปี 2553 และล่าสุดกับ รางวัล SVN AWARD ประจำปี 2557 โดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network, Asia (Thailand)) หรือ SVN ตอบรับการเป็นองค์กรสีเขียว “ตัวจริง” ของพวกเขา
ขณะที่ธุรกิจแม้ไม่โตมาประมาณ 5 ปีแล้ว จากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาหลายปี แต่เขาบอกว่า ยังมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี และขยายโอกาสธุรกิจออกไปจากแค่ผลิตสิ่งพิมพ์ สู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่น อาทิ ค้าขายอุปกรณ์สำนักงาน เป็นตัวแทนจำหน่ายกระดาษรีไซเคิล ทำสติกเกอร์ติด รถยนต์ และถ่ายแบบแปลน เหล่านี้เป็นต้น โดยยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่บนเกาะสมุยในวันนี้
ถามถึงสิ่งที่คาดหวังในการลงมือทำอะไรหลายอย่าง ผู้ก่อตั้งสมุยอักษร บอกเราเพียงว่า ไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ตอนนี้ จะเกิดประโยชน์ หรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้ใครไม่มากแค่ไหน แต่สิ่งที่มั่นใจคือ พวกเขาทำในสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสังคม สร้างคนดี หรือใช้หลักเมตตาธรรมมาดำเนินธุรกิจ ซึ่งเขาเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนได้ในอนาคต
“ผมคิดว่า นี่จะเป็นตัวหล่อหลอมเส้นทางเดินของเรา เราทำแค่นี้ พอใจแค่นี้ คงไม่ไปคาดหวังอะไรมากมาย ว่าจะมีคนมาเห็นดีเห็นงามด้วยแค่ไหน แต่ถ้ามีใครมาทำแนวทางนี้มากขึ้น ก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าทุกภาคส่วนของสังคมมาช่วยกันมอง ช่วยกันทำความดี และสร้างคนดี สังคมของเราก็จะดีไปพร้อมกันด้วย”
ในหนังสือครบรอบ 20 ปี สมุยอักษร สะท้อนแนวคิดในการทำธุรกิจสู่ความสำเร็จ ใจความระบุว่า..
“ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความดี 2 ประการ คือ ความดีภายในตัวเอง โดยธุรกิจต้องมีจรรยาบรรณ มีหลักเมตตาธรรมและคุณธรรม เป็นฐานรากของความคิดและการกระทำ และสอง ความดีที่ปรากฏต่อภายนอกองค์กรซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจต้องมุ่งมั่น บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรับผิดชอบ ต่อลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม สำคัญคือ ต้องรู้จักความพอดีพอเพียง เสียสละ และแบ่งปันสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ”
และนี่คือวิถีของพวกเขา สมุยอักษร องค์กรรักษ์โลก
อ้างอิงข้อมูลจาก